“ทำไมฉันต้องเกิดเป็นมอแกน?” คือคำถามของชายชาวเผ่ามอแกนที่ต้องผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับปัญหาในการพิสูจน์สัญชาติและเรียกร้องสิทธิต่างๆที่ตนพึงมีในฐานะที่เกิดและโตบนแผ่นดินไทย
คุณเชื่อไหมว่า ปี 2547 ที่สึนามิซัดถล่มภาคใต้ของประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนไทยส่วนใหญ่รู้ว่ามีชาติพันธุ์มอแกน ก่อนหน้านั้นพวกเขาตกสำรวจขนาดที่ว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคิดว่ามีชาวมอแกนอยู่ตามเกาะต่างๆรวมกันแค่ 50-60 คน ทั้งๆที่ในความเป็นจริงมีมากถึง 500-600 คน
และคุณเชื่ออีกไหมว่าเป็นเวลาเกือบ 16 ปีแล้วที่ชาวมอแกนเป็นที่รู้จักแต่ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติเพื่อจะได้มีสิทธิเท่าเทียมกับชาวไทยคนอื่น มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้การพิสูจน์สัญชาติให้ชาวมอแกนเป็นเรื่องยาก
เพราะแต่เดิมชาวมอแกนเป็นชนเผ่าที่อาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆในพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างไทยและเมียนมาร์ จึงมีการแต่งงานกันบ้างระหว่างชาวมอแกนและชนชาติอื่นในการปกครองของเมียนมาร์เป็นเรื่องยากที่ทางการไทยจะสืบสาวที่มาที่ไป อีกทั้งชาวมอแกนที่เกิดและโตในเขตประเทศไทยก็ไม่ได้มีการติดต่อสัมพันธ์กับคนไทยที่อาศัยในแผ่นดินใหญ่เท่าไรนักเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษปู่ย่าตายายพ่อแม่ไม่เคยมีบัตรประชาชนและไม่เคยมีสัญชาติ
การติดต่อสัมพันธ์ที่ชัดเจนที่สุดก็คงจะเป็นการนำปลาที่จับได้มาขายทั้งๆที่ตนก็ไม่รู้ว่าปลาที่จับได้ควรขายราคาเท่าไร น้ำหนักตราชั่งเท่าไร โดนกดราคาหรือไม่ ชาวมอแกนไม่รู้เลย
แต่ตั้งแต่เกิดสึนามิทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่อโลกรู้ว่ามีพวกเขาอยู่ความเจริญก็เขามา หลายหน่วยงานยื่นมือให้ความช่วยเหลือ แต่ด้วยโลกวัตถุที่เข้ามาเร็วเกินกว่าที่พวกเขาจะปรับตัวจากชีวิตอิสระและสมถะให้รู้เท่าทันผู้ที่จะเข้ามาฉวยโอกาสก็สายไปเสียแล้ว พื้นที่เกาะที่พวกเขาอาศัยแทบทุกเกาะมีปัญหาเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ที่ทับซ้อนกับกลุ่มนายทุนที่หวังจะใช้พวกเขาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว เอาพื้นที่อยู่อาศัยของพวกเขาไปสร้างเป็นรีสอร์ท
พวกเขาต่อสู้เรียกร้องให้ตนเองมีสิทธิ์ที่จะอยู่อาศัยบนแผ่นดินที่บรรพุบุรุษอาศัยอยู่มาเป็นร้อยๆปี แม้วันนี้ปัญหาเหล่านี้จะบางเบาลงไปบ้างแต่การออกเอกสารสิทธิ์ก็ยังมีการเอื้อประโยชน์ให้นายทุนอยู่ นอกจากที่พวกเขาต้องต่อสู้และปรับตัวกับความเจริญที่เข้ามา พวกเขายังต้องต่อสู้กับทรัพยากรทางทะเลที่เปลี่ยนไป เพราะหลังจากสึนามิกระแสน้ำก็เปลี่ยนไป สัตว์น้ำที่เคยจับได้ก็ลดน้อยลง ทุกวันนี้ชาวมอแกนออกไปวางอวนเพื่อดักสัตว์น้ำแบบไม่คาดหวังอะไรเลย ปลาปูสักตัวที่จับได้ก็เพื่อนำมาทำอาหารกินในครอบครัวเท่านั้น นานๆทีจะได้หลายๆตัวให้พอจะเอาไปขายได้เอาเงินมาจุนเจือให้ลูกได้ไปโรงเรียนบ้าง ในขณะที่ครอบครัวที่ไม่มีเรือและอุปกรณ์ประมงของตน ก็ต้องออกรับจ้างเรือประมงขนาดใหญ่ออกไปหาปลาในน่านน้ำที่ไกลออกไป
หลายๆครั้งที่เรือประมงออกไปจับปลาในพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน ลูกเรือที่รวมถึงชาวมอแกนถูกยิงตกน้ำเสียชีวิต บ้างก็ถูกจับตัวไปขังไว้ในประเทศนั้นๆ บ้างก็หายสาบสูญไปตลอดกาล มีหญิงชาวมอแกนหลายคนที่เสียทั้งลูกและสามีไปพร้อมๆกันกับเหตุการณ์แบบนี้ เหตุการณ์ที่พวกเขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าไม่ทำก็ไม่มีเงินมาจุนเจือครอบครัว ชายชาวมอแกนแทบทุกคนยังอยากไปทำงานเป็นลูกเรือประมงทั้งๆที่รู้ว่าอาจมีอันตรายถึงชีวิตรอพวกเขาอยู่
ถึงแม้จะมีความพยายามจากภายนอกที่เข้ามาช่วยเหลือให้ชาวมอแกนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างยั่งยืนเช่นมูลนิธิต่างๆเข้ามาให้การศึกษากับเด็กๆโดยคาดหวังว่าจะให้พวกเขาได้ประกอบอาชีพที่ไม่ต้องเสี่ยงชีวิตและจุนเจือครอบครัวได้ แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปอย่างที่หวัง เมื่อเด็กรุ่นแรกที่มูลนิธิพาไปอยู่อาศัยและเข้าเรียนในตัวจังหวัดระนอง ไม่เคยกลับมาเยี่ยมครอบครัวที่เลย หลายๆคนสืบทราบว่ามีครอบครัวกับคนไทยและอายที่จะบอกให้รู้ว่ามีพ่อแม่เป็นชาวมอแกนเพราะกลัวว่าครอบครัวสามีจะรับไม่ได้
ด้วยเหตุนี้เองการให้การศึกษากับเด็กๆชาวมอแกนจึงไม่เป็นที่พอใจกับพ่อแม่นัก แทบจะทุกครอบครัวบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าจะให้ลูกเรียนจบแค่ ป.6 พอให้อ่านออกเขียนได้และออกมาช่วยพ่อแม่หาปลาดังเช่นที่เคยทำมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตาทวดดีกว่าที่จะเข้าไปเรียนในเมืองและไม่กลับมาหาพ่อแม่อีกเลย
เราถามชาวมอแกนว่าต้องการความช่วยเหลืออะไรมากที่สุดทุกคนบอกเหมือนกันว่าอยากได้เรือประมงลำเล็กๆกับอุปกรณ์หาปลา พวกเขาไม่อยากได้เครื่องปั่นไฟหรือสิ่งอำนวยความสะดวกอะไร พวกเขาชินกับชีวิตที่เรียบง่ายดั้งเดิม ไม่มีไฟฟ้าก็ใช้ตะเกียง ไม่มีประปาก็ใช้น้ำฝน แต่ไม่มีเรือไม่มีอวนพวกเขาจับปลาไม่ได้เลี้ยงครอบครัวไม่ได้
ปัจจุบันมีชาวมอแกนโดยประมาณ 700 คน อาศัยกระจายอยู่สามเกาะได้แก่ เกาะพยาม เกาะช้าง เกาะเหลา ในจังหวัดระนอง