การเกณฑ์ทหารยังจำเป็นหรือไม่ ?

การเกณฑ์ทหารยังจำเป็นหรือไม่ ?

เมื่อโดนขานชื่อ คุณต้องออกไปยืนท่ามกลางคนหลายร้อย เสียงโห่ร้อง หัวเราะ ตะโกน อื้ออึงสลับกันไป

ตรงหน้ามีชายสวมชุดลายพรางถือไมค์หนึ่งคน อีกคนถือกระป๋องที่ภายในบรรจุอนาคตของคนไว้ บางคนเป็นอนาคตหนึ่งปี แต่สำหรับบางคน เป็นอนาคตทั้งชีวิต

การเกณฑ์ทหารของไทยมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยรูปแบบจะต่างกับปัจจุบัน ในอดีต การเกณฑ์ทหารอยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์แบบขุนนางและไพร่

ชายทุกคนที่มีอายุตั้งแต่ 18-60 ปี มีหน้าที่รับราชการ ต้องมาเข้าทะเบียนที่กรมพระสุรัสวดี (เมื่อเปรียบเทียบกับสมัยปัจจุบัน คือ กรมสัสดี สังกัดกระทรวงกลาโหม) และต้องเข้ามารับราชการปีละสองเดือน หรือน้อยกว่านั้นแล้วแต่ถิ่นที่อยู่อาศัย

มีการแก้ไขระเบียบการเกณฑ์ทหารหลายครั้งตามยุคสมัย โดยพระราชบัญญัติรับราชการทหารกองประจำการ พ.ศ. 2497 ที่ใช้ในปัจจุบันนั้น ระบุให้ชายไทยที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นทะเบียนทหาร และรับเข้าการตรวจเลือกเมื่ออายุ 21 ปี

การเกณฑ์ทหารในไทยดำเนินเรื่อยมา จนกระทั่งหลายปีมานี้ ด้วยเพราะโลกเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์ เกิดการแข่งขันด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและเศรษฐกิจมากกว่าศักยภาพทางการทหาร

จึงเริ่มมีการตั้งคำถามกันอย่างแพร่หลายว่าการเกณฑ์ทหารให้อะไรกับสังคม หากพิจารณาดูแล้ว จะพบว่าช่วงวัยเกณฑ์ทหารสำหรับชายไทย คือหลังจากจบการศึกษา ปวส. หรือปริญญาตรี

นักศึกษาเหล่านี้คือแรงงานที่พร้อมสรรพทั้งความรู้และกำลังวังชาที่จะหมุนกงล้อที่เรียกว่าเศรษฐกิจในการพัฒนาประเทศ แต่ถูกดึงตัวออกจากระบบ และต้องไปฝึกทหารอยู่กว่า 1-2 ปี

ในขณะที่ความรู้ที่สั่งสมมาก็ค่อยๆเลือนหายไป หนึ่งในหนุ่มไทยที่จับได้ใบแดงและต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารเมื่อปี พ.ศ. 2562 โพสต์บรรยายความรู้สึกของเขาว่า

“ผมทุ่มเท 5-6 ปี ระหว่างเรียนสร้างชื่อเสียงให้ตัวเองด้วยการเป็นโปรแกรมเมอร์ฟรีแลนซ์ตั้งแต่เรียน ปวช. อดทน ทุ่มเท ฝึกฝนนอนเช้าเกือบทุกวันจากโปรแกรมเมอร์ราคาหลักร้อยจน

ทุกวันนี้ค่าแรงผมหลักหมื่นต่อชิ้นงาน กว่าลูกค้าจะติดกว่างฐานลูกค้าจะมั่นคง วันนี้ผมจับได้ ทบ2. มทบ.46 ปัตตานี และผมยังเรียนไม่จบ

ชีวิตที่ทุ่มเทสร้างมาพังยับ ผมไม่ได้กลัวการฝึก 2 ปี หลังจากผมออกมา อนาคตผมพัง ฐานลูกค้าไม่เหลือ และมันไม่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ง่ายๆ มันใช้เวลา และความอดทนหลายปี แต่มันจบแล้ว อนาคตผมพังหมดแล้ว”

ไม่เพียงเท่านั้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา รัฐไทยต้องจ่ายเงินหลักหมื่นล้านต่อปีในการเกณฑ์ทหาร ในปี 2559 มีทหารเกณฑ์ทั้งหมด 101,307 นาย

ประมาณงบประมาณการใช้จ่ายอยู่ที่ 12,156 ล้านบาท ส่วนปี 2560 มีทหารเกณฑ์ทั้งหมด 103,097 นาย ประมาณงบประมาณการใช้จ่าย 12,371 ล้านบาท

ล่าสุดในปี 2563 มีการตั้งงบเกี่ยวกับทหารเกณฑ์ถึงปีละ 14,990 ล้านบาทนอกจากจะส่งผลเสียทางด้านเศรษฐกิจแล้ว การเกณฑ์ทหารยังแสดงออกถึงความเหลื่อมล้ำ เป็นแหล่งคอรัปชั่น และทำลายสิทธิมนุษยชน

ผู้มีเงินสามารถหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารหลายรูปแบบ เช่น การยัดเงินใต้โต๊ะเพื่อย้ายชื่อตนไปอยู่ในอำเภอที่มีผู้สมัครเต็มแล้ว

และในแต่ละปี จะมีการนำภาพของสาวประเภทสองขณะที่ไปรายงานตัวมาลงสื่อ โดยมีการล้อเลียนต่างๆ นานา มีการนำไปทำคลิปขบขันเผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตเมื่อคนที่จับได้ใบแดงร้องไห้ เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีภาพและคลิปวิดีโอหลุดออกมาอยู่บ่อยครั้ง กับการฝึกที่ดูรุนแรงเกินไป ไปจนถึงการทรมานทหารเกณฑ์ภายในค่าย และร้ายแรงที่สุดคือมีทหารเกณฑ์เสียชีวิต

โดยล่าสุด ในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์ มีทหารเกณฑ์เสียชีวิตไปกว่า 3 คน ข่าวการเสียชีวิตของทหารเกณฑ์ยิ่งขยายเครื่องหมายคำถามที่ต่อท้ายระบบเกณฑ์ทหาร

ด้วยเหตุผลที่กล่าวมานี้ ทำให้เสียงขับร้องของคนจำนวนไม่น้อยในสังคมให้ยกเลิกเกณฑ์ทหารดังขึ้นเรื่อยๆ

มีกระบวนการทางรัฐสภาเพื่อยกเลิกเกณฑ์ทหาร และให้เปลี่ยนเป็นรูปแบบสมัครใจ โดยใช้สวัสดิการในการจูงใจให้คนมาสมัครเป็นทหารแทน

อย่างไรก็ดี พรบ.ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ซึ่งเสนอโดย พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีต ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกยุบไป

ล่าสุดถูกปัดตกไปโดยนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา หนึ่งในข้อเสนอของผู้ที่ยังคงสนับสนุนให้มีการเกณฑ์ทหาร คือ การเกณฑ์ทหารเป็นการฝึกฝนระเบียบวินัย

บ้างก็เสนอว่าเป็นการฝึกฝนจิตใจ เพื่อให้ออกมาอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างเข้มแข็ง (ซึ่งก็ต้องมาเถียงกันอีกแหละว่าได้จริงไหม เพราะหลายคนที่เข้าไปแล้วออกมาก็มักบ่นกันว่าเข้าไป “รบกับหญ้าฆ่ากับมด” เสียเยอะ)

เมื่อนำมาพิจารณาเทียบเคียงกับความสูญเสียของกำลังพลในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งบางครั้งไม่ใช่แค่ 1-2 ปี แต่ตลอดไป บางทีอาจต้องตั้งคำถามใหม่ว่ามันคุ้มแล้วหรือไม่กับ ราคาที่ต้องจ่ายไป

อ้างอิง: https://prachatai.com/journal/2017/11/74057https://www.silpa-mag.com/history/article_42257https://www.brighttv.co.th/social-news/ดราม่าเกณฑ์ทหาร-โปรแกรมhttps://www.bbc.com/thai/thailand-51030231

ศิวัช ศรีโภคางกุล และ เทอดศักดิ์ ไป่จันทึก, การเกณฑ์ทหารกับการทรมาน และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อทหารเกณฑ์ในประเทศไทย: บทวิเคราะห์จากมุมมองหนังสือรัฐศาสตร์ไม่ฆ่า, วารสารนิติสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปีที่ 10 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2560

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *