ชีวิตคนเมือง ทุกข์ สุข ลุ้นรายวัน

ชีวิตคนเมือง ทุกข์ สุข ลุ้นรายวัน

ฝนตก น้ำท่วม รถติด ปัญหาซ้ำๆ ที่คนกรุงต้องเจอ 4 ชั่วโมง ยาว ยาว ไปถึงจะถึงบ้าน จะหนีไปใช้รถไฟฟ้า คนก็ล้นสถานี “นี่หรือชีวิตคนเมือง” ตื่นตี 5 ถึงออฟฟิศ 8 โมง พักเที่ยงก็ต้องรีบหาซื้อข้าวกินเพราะไม่อยากต่อคิวยาว ตกเย็นเลิกงาน 5 โมง ถึงบ้าน 2 ทุ่ม คำนวณแล้วเห็นหน้ากระเป๋ารถเมล์กับเพื่อนร่วมงานมากกว่าหน้าพ่อหน้าแม่ที่บ้าน จนต้องถามตัวเองว่าเมื่อไหร่ชีวิตจะดีกว่านี้ เมื่อไหร่รถจะไม่ติด รถเมล์จะมาตรงเวลา ไม่ต้องลุ้นว่าในจะตกหนักจนน้ำท่วมหรือไม่

Numbeo เว็บจัดอันดับคุณภาพในแง่มุมต่างๆ จัดอันดับคุณภาพชีวิต Quality of Life index ของเมืองต่างๆทั่วโลกไว้ ซึ่งแน่นอนว่ากรุงเทพฯไม่ได้ขึ้นอันดับต้นๆ แต่อยู่ที่อันดับ 227 ของโลก และ 49 ของเอเชีย

ปัจจัยที่นำมาคิดจะประกอบด้วย กำลังซื้อ ความปลอดภัย ค่าครองชีพ การเข้าถึงระบบสุขภาพ การจราจร มลพิษ และอื่นๆ สถิติยังบอกอีกว่าคนกรุงเทพฯใช้เวลาเกือบ 4 ชั่วโมงไปกับการเดินทาง

มีการพูดถึงปริมาณรถส่วนตัวบนท้องถนนที่สวนทางกับรถสาธารณะ เคยมีแนวคิดที่ว่าคนไม่มีที่จอดรถห้ามซื้อรถหรือจัดให้ขับรถวันคู่วันคี่ จำกัดปริมาณรถต่อครอบครัว ซึ่งก็เป็นได้แค่แนวคิดเพราะถูกตีตกไปตั้งแต่ยังไม่ทันเสนอรัฐบาล ไปจนถึง ความพยายามเพิ่มปริมาณรถโดยสารสาธารณะให้เพียงพอในช่วงเวลาเร่งด่วน ซึ่งก็มีคำถามตามมาอีกว่าเพิ่มรถเมล์มาให้พอรถมันก็ยังติดอยู่ดี

ต่อมาก็เลยมีการสร้างรถไฟฟ้าเพื่อแบ่งเบาการจราจรบนถนน แต่ระบบขนส่งทางเรือที่มีผู้ใช้บริการต่อปีถึง 27 ล้านคนแทบไม่มีการพัฒนาเลย ในรอบหลายสิบปีเรือด่วนเจ้าพระยาวันนี้ไปไกลสุดแค่เอเชียทีคในขณะที่มีการลงทุนสร้างรถไฟฟ้าในหลายพื้นที่ที่ไม่ได้เข้าถึงโซนที่อยู่อาศัย สถานีรถไฟฟ้าอยู่ในพื้นที่เดียวกับถนนเส้นหลักที่ก็ทับซ้อนกับรถเมล์อีกหลายสาย คุณสามารถนั่งรถเมล์จากแยกอโศกไปจนถึงแยกบางนาได้ในราคาไม่ถึง 20 บาท ในขณะต้องจ่าย 48 บาทเพื่อนั่งรถไฟฟ้าเพียงเพื่อจะให้ถึงจุดหมายปลายทางเร็วขึ้นและหนีรถติดของเส้นสุขุมวิท แปลว่าที่ผ่านมาความพยายามทั้งหมดเพียงแค่ลดปัญหาการจราจรของคนที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหารถติดใช่หรือไม่ เพราะคนมีรถก็ยังขับรถส่วนตัวกันอยู่ดี

เอาล่ะ ถ้าระดับนโยบายต้องใช้เวลานาน คนเมืองอย่างเราๆขอแก้ที่ตัวเองก่อน ขอย้ายเข้ามาอยู่ให้ใกล้ที่ทำงานละกัน แต่ก็ต้องผงะกับราคาห้องพักที่แสนจะแพง จะขยับออกมาหน่อยให้ราคาห้องพักถูกลงก็ไกลเกินจะเดินไปทำงานได้ นี่ฉันอยู่บ้านเหมือนเดิมแล้วตื่นให้เช้าขึ้นเพื่อหนีปัญหาจะดีกว่าไหม แต่ถึงอย่างไรตอนเย็นก็เลิกงานพร้อมๆกันนี่นา นี่มันปัญหาโลกแตกชัดๆจะหนีจากปัญหานี้ยังไง หลายบริษัทแก้ไขปัญหาด้วยการให้พนักงานเข้างานยืดหยุ่นได้เพื่อนหลีกหนีปัญหาการจราจร แต่ความพยายามทุกอย่างก็เหมือนจะเป็นศูนย์เมื่อฝนเริ่มตก พอฝนหยุดน้ำก็รอการระบาย โดยล่าสุดมีน้ำรอการระบายอยู่บนสะพานลอยด้วย!

อ้าว แล้วอุโมงค์ระบายน้ำขนาดยักษ์ไม่ได้ช่วยบรรเทาน้ำท่วมเลยเหรอ คำตอบคือช่วย แต่อุโมงค์ระบายน้ำส่วนใหญ่จะเชื่อมต่อจากท่อระบายน้ำยิบย่อยจากพื้นถนนที่เราเดินเหยียบกันทุกวันนั่นแหละถ้าเปิดฝาท่อดูเราก็จะพบขยะกับไขมันอุดตันอยู่เพียบเนื่องจากการทิ้งขยะและเศษอาหารไม่เป็นที่เป็นทางและท่อเองก็แทบไม่ได้ขุดลอกเลย แถมบางช่วงของท่อยังอยู่ลึกและแคบเกินกว่าจะขุดลอกได้ด้วย

แล้วถ้าหากเรามองปัญหาทุกอย่างที่ต้นตอจริงๆมันมาจากอะไร ทำไมกรุงเทพฯเมืองที่มีการพัฒนาในด้านนวัตกรรมและเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้นๆของโลกถึงแก้ไขปัญหารถติดกับน้ำท่วมไม่ได้ซักที คำเดียว “ผังเมือง” ที่พูดตามตรงว่าไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการขยายตัวและเหมาะสมกับผู้อยู่อาศัยในปัจจุบันเลย หากผู้อ่านสงสัยว่าผังเมืองมีส่วนในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างไรให้คุณลองเปิดกูเกิลแมพแล้วนับจำนวนซอยตันที่สามารถทะลุถึงถนนเส้นหลักได้แล้วถ้าจะทุบซอยตันให้ทะลุถึงกันได้จะต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้างแล้วเจ้าของที่จะยินยอมหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วอีกครั้งให้คุณลองดูเส้นทางคลองที่เชื่อมถึงกันแต่ไม่มีเรือโดยสารบริการ คนที่อยู่ในชุมชนติดคลองก็ต้องเดินออกมาขึ้นรถที่ถนนอยู่ดี เท่ากับว่านโยบายที่เคยออกมาทั้งหมดไม่สามารถแกัไขปัญหาอย่างตรงจุดได้ใช่หรือไม่

สุดท้ายประชาชนตาดำๆอย่างเราจะต้องอยู่ร่วมกับปัญหาพวกนี้ไปอีกนานเท่าไร และเมื่อไรรัฐจะแก้ไขอย่างจริงจังเสียที The Features อยากให้ทุกคนคอมเม้นว่าทุกวันนี้เจอปัญหาการใช้ชีวิตในเมืองอย่างไรและคิดว่ามีนโยบายอะไรที่จะช่วยลดปัญหาพวกนี้ได้บ้าง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *