ตัดผม “รุ้ง” : ริดรอนอิสรภาพ พรากความมั่นใจ และการจำกัดกรอบ

ตัดผม “รุ้ง” : ริดรอนอิสรภาพ พรากความมั่นใจ และการจำกัดกรอบ

“รุ้งแปลกตาเราไปมาก เธอถูกตัดผมสั้นประบ่า และผมถูกย้อมจากสีบลอนด์ทองเป็นสีดำ เธอสวมใส่ชุดผู้ต้องขังแรกรับสีน้ำตาล สวมหน้ากากสีน้ำเงิน และสวมหน้ากากพลาสติกคลุมหน้า”

นี่คือคำบรรยายของทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่เข้าพบ รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในเรือนจำอำเภอธัญบุรี วันที่ 20 ตุลาคม 2563

ล่าสุด วันที่ 30 ตุลาคม ภาพของ “รุ้ง” ที่ปรากฎตัวครั้งแรกต่อสายตามวลชนหลังถูกคุมขังกว่าสองสัปดาห์ เป็น “รุ้ง” ที่ไม่คุ้นตาเอาเสียเลย ดังเช่นที่ทนายบรรยายไว้

จากนักศึกษาผมยาวถึงหลัง รุ้งในปัจจุบันถูกกร้อนผมให้เหลือเพียงประบ่า ผมสีทองถูกย้อมดำสนิทไม่เพียงแค่รุ้งเท่านั้น อานนท์ นำภา และ ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก ก็ถูกตัดผม “เกรียนสามด้าน”

หลังถูกปล่อยตัวจากเรือนจำวันที่ 7 กันยายน จากระเบียบกรมราชทัณฑ์ ปี พ.ศ. 2557 ได้มีการแบ่งระเบียบทรงผมตามลักษณะของผู้ถูกคุมขัง “นักโทษเด็ดขาด”

คือบุคคุลที่ถูกคุมขังหลังคำพิพากษาถึงที่สุด ผู้ชายต้องตัดเกรียน ถ้าเป็นผู้หญิงให้ไว้ยาวไม่เกินต้นคอ หรือหากเกินต้องมัดให้เรียบร้อยส่วน

“คนต้องขัง” คือบุคคลที่ถูกขังไว้ตามหมายขัง ผู้ถูกคุมขังชายในกลุ่มนี้ได้รับอนุญาติให้ “ตัดผมแบบชนสามัญ” ส่วนผู้หญิงสามารถ “ไว้ผมตามประเพณีนิยม”

หากยาวเกินต้นคอให้มัดให้เรียบร้อยหากดูจากระเบียบดังกล่าว เป็นที่เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่จัดรุ้งอยู่ในกลุ่ม “นักโทษเด็ดขาด”

ทั้งนี้ รุ้งถูกฝากขังในในฐานะ “คนต้องขัง” หรือบุคคลที่ถูกขังไว้ตามหมายขังเพียงเท่านั้น ซึ่งตามระเบียบแล้ว ยังสามารถไว้ผมตามประเพณีนิยมได้

ธง ฐิติพงษ์ ด้วงคง อดีตอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการอิสระ ชี้ว่าการตัดผมรุ้งเป็นการ “ใช้อำนาจโดยพละการ” ของรัฐ

และมองว่าการกระทำดังกล่าวเผยให้เห็นคุณภาพชีวิตในเรือนจำ “โดยปกติแล้ว การตัดผมในเรือนจำ มักจะเป็นไปด้วยเหตุผลเรื่องความสะอาด เพื่อป้องกันเรื่องของเหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในพื้นที่เรือนจำ

แต่มันก็สะท้อนอะไรหลายๆอย่าง เช่น คุณภาพชีวิตในเรือนจำ มันเป็นอะไรที่ไม่ได้มาตรฐาน” ธง อธิบายว่า สิทธิการไว้ผมเป็นสิทธิในการแสดงออกขั้นพื้นฐาน การแสดงออกด้วยวาจา การใช้เสื้อผ้า หน้าผม

เหล่านี้ล้วนเป็นการแสดงออกถึงความเป็นตัวตนและอัตลักษณ์ การตัดผมรุ้ง จึงแสดงถึงการใช้อำนาจของรัฐที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเรือน

“มันชัดเจนว่าเป็นการทำลายอัตลักษณ์ของคนๆหนึ่ง รุ้งได้สร้างบริบทของการขัดขืนหลายอย่าง ผ่านการพูด และผ่านอวัจนปฏิบัติ เช่น การย้อมสีผม เพราะถ้าเราดูนัยยะของการย้อมสีผมในบริบทของเมืองไทย มันคือการแสดงการขัดขืน”

“การตัดผมรุ้ง มันทำให้เกิดการหวาดกลัว มันเป็นการสร้างให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าการรุกล้ำของอำนาจรัฐ ที่มันกระทบต่อตัวบุคคลและจิตใจ อำนาจของรุ้ง และความรู้สึกปลอดภัยของรุ้ง”

ย้อนกลับไปในยุคอาณานิคม การควบคุมทรงผมคือการกดขี่ที่หญิงผิวสีต้องเผชิญ พวกเธอถูกบังคับให้ต้องใช้ผ้าผูกผมเพื่อแบ่งแยกฐานะของนายทาสกับทาสผ่านการแต่งกาย

แต่ในปัจจุบัน เส้นผมนับเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย และการไว้ทรงผมใดๆนับเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงออก

“มันเป็นสิทธิบนเรือนกาย คุณในฐานะเจ้าของชีวิตสามารถทำได้ รัฐไม่สามารถเข้ามาจัดการได้”

“เมื่อก่อน นายทาสจะบอกให้ทาสโพกผม เธอผิวดำห้ามปล่อยผม เมื่อย้อนมามองบริบทของรุ้ง มันแสดงให้เห็นว่าเมืองไทยยังเหมือนอยู่ในยุคทาส”

การตัดผมรุ้งครั้งนี้ จึงมิใช่เพียงแค่การตัดผมผู้ถูกคุมขังเท่านั้น แต่เป็นปรากฎการณ์ทางสังคมที่แสดงให้เห็นถึงสภาพความเป็นจริงในสังคมไทย

และตั้งคำถามถึงระบอบอำนาจนิยมที่แฝงอยู่กับการ “สับ” เส้นผมของคนๆหนึ่ง การริดรอนอิสรภาพ และการจำกัดกรอบของพลเรือน

ขอบคุณภาพจาก: PPTV

แหล่งอ้างอิง:https://face2faceafrica.com/…/tignon-laws-the-dreadful…

http://www.correct.go.th/osss/a10904_57.pdf

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *