ทำไมต้องแขวน?

ทำไมต้องแขวน?

นิทรรศการ “แขวน” รำลึกเหตุการณ์โศกนาฎกรรม 6 ตุลาคม 2519 บอกเล่าเรื่องราวจากบริบททางการเมืองช่วงเวลาดังกล่าว

ก่อนกระสุนจากฝั่งรัฐบาลจะสาดเข้าไปในสถานที่ชุมนุมของนักศึกษาในช่วงเช้าของวัน จนกลายเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงทางประวัติศาสตร์ของไทยที่ “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง”

ช่วงต้นเดือนตุลาคมของทุกปี จะมีการจัดนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฎกรรมที่เจ้าหน้าที่รัฐสังหารหมู่นักศึกษาประชาชน 6 ตุลา

มีผู้เสียชีวิตกว่า 41 คน และบาดเจ็บกว่า 145 คน โดยปีนี้จัดขึ้นที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์

“ประตูแดง” ที่ใช้แขวนคอสองอดีตแนวร่วมประชาชน ที่ต่อต้านการกลับเข้าเมืองไทยของ จอมพลถนอม กิตติขจร ถูกวางไว้สองข้างประตูทางเข้านิทรรศการ ประหนึ่งพาเราย้อนเวลาสู่เหตุการณ์ในอดีต

ความเงียบสงัดในนิทรรศการบอกถึงความรู้สึกของผู้เข้าชมได้เป็นอย่างดี โดยนอกจากนิทรรศการจะเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ผ่านตัวหนังสือและภาพเหตุการณ์แล้ว ทางผู้จัดยังได้ใช้เทคโนโลยี AR เพื่อให้ผู้เข้าชมนิทรรศการรู้สึกร่วมกับเหตุการณ์มากขึ้น

ณัฐพงษ์ ภูแก้ว นักร้องวง สามัญชน เป็นหนึ่งในผู้เข้าชมนิทรรศการในวันแรก ณัฐพงษ์เล่าว่ามางานร่วมรำลึกประวัติศาสร์ 6 ตุลาที่ธรรมศาสตร์ทุกปี

สำหรับเจ้าตัวแล้วการมาดูนิทรรศการในสถานที่จริงให้ความรู้สึกแตกต่างจากการอ่านประวัติศาสตร์ผ่านหนังสือหรือดูภาพถ่ายอย่างสิ้นเชิง

“มาทุกปีที่จัดครับ สิ่งที่มาจัดแสดงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มันจับต้องได้ มันสะท้อนถึงสิ่งที่รัฐคิดกับประชาชนในสมัยนั้นได้เป็นรูปธรรมมาก มันรู้สึกอินมากกกว่าที่เราเคยดูในภาพหรือวิดีโอ”

“พอมาเห็นพื้นที่จริง เรารู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง ผู้คนเปลี่ยน สภาพแวดล้อมเปลี่ยน เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอย้อนกลับมามองนิทรรศการที่จัดแสดง

เราจะรู้สึกถึงกลิ่นไอของ 6 ตุลา เพราะเราเกิดก่อนยุค 6 ตุลา ผมพยายามเชื่อมต่อและรำลึกถึงเหตุการณ์การต่อสู้ของนักศึกษาประชาชนในอดีต”

แม้จะเป็นเหตุการณ์สำคัญที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย แต่เหตุการณ์ 6 ตุลา กลับเป็นเพียงหนึ่งในเหตุการณ์ที่วิชาประวัติศาสตร์ในชั้นเรียนไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่าที่พึงจะเป็น

พีรดา เทียนรุ่งโรจน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในผู้เข้าชมนิทรรศการ เล่าให้ฟังว่า

“สมัยเรียนมัธยม เราเรียนเกี่ยวกับ 6 ตุลา แต่ไม่มีภาพให้เห็น ครูแค่เล่าคร่าวๆ ว่าเกิดอะไรบ้าง แต่ไม่ได้เล่าทั้งหมด”

“การที่มาดูที่นี่ทำให้เราเห็นภาพมากขึ้น เพราะในหนังสือเรียนมีแค่ตัวหนังสือ ที่นี่ให้ความรู้สึกร่วมมากกว่า เดินๆดูก็รู้สึกหดหู่ ไม่รู้ว่ามนุษย์จะทำกับเพื่อนมนุษย์ขนาดนี้ได้ยังไง เป็นเหมือนการเปิดเผยด้านมืดของมนุษย์ออกมา”

เวลาล่วงเลยมากว่า 44 ปี จากวันนั้นถึงวันนี้ สนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์เป็นที่ๆนักศึกษาและคนละแวกใกล้เคียงใช้ทำกิจกรรมกลางแจ้ง รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ

ขณะเดินผ่านสนามคือภาพที่สถานที่สาธรณะควรจะเป็น และคงไม่มีใครอยากเห็นเลือดเปือนบนผืนหน้าอีกครั้ง

นิทรรศการ “แขวน” เปิดให้ชมในเวลา 10.00 – 20.00 น. ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นไป โดยไม่คิดค่าเข้าชม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *