รู้จัก ม.112 และ ม.113 กับ “ทนายรอน” หรือ นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม

รู้จัก ม.112 และ ม.113 กับ “ทนายรอน” หรือ นายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม

คอมเมนท์ไหนเข้าข่าย 112 แสดงความเห็นแบบไหนให้ปลอดภัย : คุยกฎหมายกับทนายรอน ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

จากกระแสข่าวที่ว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมใช้กฎหมาย ม.112 และ ม. 113 ในการจับกุมแกนนำคณะราษฎร

The Features จับเข่าคุย “ทนายรอน” หรือนายนรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

โดยทนายรอนอธิบายความผิดที่เข้าข่ายประมวลกฎหมายอาญาข้อดังกล่าว รวมถึงกฎหมายมาตรา 113 ที่มีกระแสข่าวว่าอาจถูกนำมาบังคับใช้ พร้อมแจงข้อควรระวังในการเสนอความเห็น ที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย

โดยทนายรอน อธิบายว่า ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 112 ว่า “ตอนเรียนกฎหมาย ไม่ค่อยมีการเรียนการสอนเรื่องนี้ อาจเพราะตอนนั้นไม่มีคดีข้อนี้เกิดขึ้นเยอะ หรือไม่ได้รับความสนใจจากสังคม

ตามประมวลกฎหมายเขียนว่า ผู้ใดหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อประมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นความผิดตามมาตรา 112

สิ่งที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ได้ต้องมี 2 องค์ประกอบ

1. คนที่พูดหรือแสดงความเห็น ต้องเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย

2. คือ การหมิ่นประมาทต้องกระทำต่อ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ถ้าไม่ครบสององค์ประกอบนี้ ก็ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 112 เช่น ตอนนี้มีการพยายามพูดกัน เช่น หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จาบจ้วงสถาบัน สองคำนี้ไม่มีเขียนในมาตรา 112

คำสองคำนี้ ขอบเขตมันกว้างขนาดไหน มันแคบขนาดไหน หรือผิด 112 ต้องถกเถียงและพูดคุยกัน โดยเนื้อแท้ของกฎหมายไม่มีคำนี้อยู่

การใช้สองคำนี้ เป็นปัญหาที่ต้องถกเถียงกัน สรุปแล้วสองคำนี้ผิดไหมตามมาตรา 112 ตามตัวบทกฎหมายไม่ได้รวมไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์ หมิ่นประมาท

เช่น การใส่ความ ให้พระองค์ท่านเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง อันนี้เป็นการหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่น ถ้าว่าตามตำรา หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย กฎหมายมาตรา 112 ไม่ได้เขียนไว้ว่าอะไร

แต่ถ้าอิงตามตำราทางกฎหมาย คือ การขู่เข็น ภัยอันตรายแก่ชีวิตร่างกาย หรือสิทธิของพระองค์ ก็คือการอาฆาตมาดร้าย

เพราะฉะนั้นการแสดงความเห็นของกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ใช่กลุ่มผู้ชุมนุม ถ้าไม่ได้มีลักษณะในการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ก็ไม่เข้าข่ายความผิดมาตรา 112”

จากการพ่นข้อความลงบนกำแพงในวันที่ 18 พฤศจิกายน มีสิทธิไหมที่จะเข้าข่าย 112 “มันจะต้องดูเป็นกรณีๆไป ผมเองยังไม่ทราบว่าข้อความไหน เรื่องไหน แต่โดยหลัก

เวลาที่เราจะพิจารณา ต้องดูเป็นเรื่องๆไป อันนี้ประเด็นที่ 1 ประเด็นที่ 2 เวลาที่มีการชุมนุม ถ้าเกิดว่าเป็นการชุมนุมที่เริ่มต้นโดยสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ และมันได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ

ถ้ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้นภายหลัง ไม่ว่าใครก็แล้วแต่ ก็จะต้องพิจารณาความผิดเฉพาะบุคคลไป จะเหมารวมว่าผู้ชุมนุมทั้งหมดไม่ได้ จะเหมารวมว่าแกนนำทั้งหมดไม่ได้

ในประเด็นนี้เคยมีแนวคำพิพากษาไว้แล้วว่า เมื่อเริ่มต้นชุมนุมโดยสงบ ถ้ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น เช่น อาจจะมีใครสักคนไปยิงกันเกิดขึ้น ก็ต้องพิจารณาเป็นบุคคลๆไป เหมารวมว่าผู้ชุมนุมทั้งหมดไม่ได้

  • สถิติในไทย มีคนโดน 112 กี่คน

“จากข้อมูลที่เราทราบ ก่อนรัฐประหารปี 57 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังไม่ได้มีการนำมาใช้มากนัก แต่พอหลังรัฐประหารโดยคณะ คสช

ประมวลกฎหมายอาญา 112 ที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็น นับตั้งแต่รัฐประหารมาจนถึง 23 กันยา 2562 เราจะพบว่ามีการดำเนินคดีอย่างน้อย 98 คน

อันนี้เป็นเกี่ยวกับการแสดงความเห็น แต่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแอบอ้าง เรียกรับผลประโยชน์ โดยมิชอบ เช่นกรณี หมอหยอง เคสแบบนี้มีอยู่ 37 คดี แยกออกจาก 98 คดี ที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็น สถานการณ์ตอนนี้ เกี่ยวกับ 112

ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ปี 63 ที่ผ่านมา ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกผู้ป่วยจิตเวชท่าหนึ่ง 2 เดือน 20 วันโดยไม่รอลงอาญา

  • ทนายอานนท์เปรย อาจใช้ ม.113 เล่นงานแกนนำคณะราษฎร รายละเอียด ม. 113 คืออะไร?

“ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 กำหนดว่าผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

หรือล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติบริหารตุลาการ หรือแบ่งแยกราชอาณาจักร หรือยึดอำนาจส่วนใดส่วนหนึ่งของราชอาณาจักร องค์ประกอบมาตรานี้

คนที่จะมีความผิดต้องใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างการปกครอง หรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ

ลำพังเพียงการชุมนุม โดยสงบปราศจากอาวุธโดยแสดงความคิดเห็นที่ไม่ได้มีลักษณะการใช้กำลัง หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลัง ไม่มีทางที่จะผิดมาตรานี้ได้

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่ผิดมาตรานี้คือการรัฐประหาร เพราะมีการนำกำลังทหารออกมา ยึดอำนาจ เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ โดยลำพังแล้ว การชุมนุมที่ออกไปแสดงความเห็นต่างๆ ไม่เข้าข่ายมาตรานี้

ย้อนกลับไปในอดีต การชุมนุม กปปส. ศาลรัฐธรรมูญก็วินัจฉัยว่า ไม่ได้มีลักษณะล้มล้างการปกครอง เป็นการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ พอเปรียบเทียบกัน ผมคิดว่าน่าจะใช้บรรทัดฐานเดียวกันว่าการชุมนุมในปัจจุบันไม่ได้มีความผิดเข้าข่ายมาตรา 113

  • การแสดงความเห็นแบบไหนเข้าข่ายผิดกฎหมาย ข้อควรระวังในการแสดงความเห็น?

การแสดงความเห็น การชุมนุม ตรงนี้เป็นสิทธิเสรีภาพตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีลงนามผูกพันธ์ จึงได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายระหว่างประเทศนี้

แล้วก็ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมูญราชอาณาจักรไทย มาตรา 34 และมาตรา 44 ดังนั้นแล้ว การแสดงความคิดเห็น หรือการชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญรับรอง คุ้มครอง

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นความผิด แต่ข้อควรระวัง จริงๆแล้ว ตราบใดที่การชุมนุมมันยังอยู่ในกรอบสงบ ปราศจากอาวุธ มันได้รับความคุ้มครองอยู่แล้ว ไม่ผิดกฎหมาย

ผมอยากจะแนะนำไปกรณีภายหลัง คือ ถ้าหากไปชุมนุมหรือแสดงความเห็นแล้ว ถูกดำเนินคดี ถูกจับกุม อยากจะแนะนำว่า ทางตัวคนที่ถูกจับกุม มีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ให้การอย่างใดๆก็ได้

หมายความว่า ถ้าคุณถูกจับตัวไป คุณสามารถที่จะยังไม่ทำอะไรจนกว่าทนายจะมาถึงได้ คือคุณมีสิทธิพบและปรึกษากับทนายความ รอทนายความก่อนได้

ประเด็นที่ 2 ผู้ต้องหาในคดีอาญามีสิทธิที่จะให้การอย่างไรก็ได้ หมายความว่าไม่มีใครจะสามารถบังคับข่มขู่ให้เราพูดอะไรได้

เราจะไม่ให้การอะไรเลยก็ได้ มันเป็นสิทธิของผู้ต้องหา อันนี้เป็นส่วนที่ผมแนะนำในส่วนนี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *