เปิดใจครูอำเภอห่างไกล อยู่กินอย่างไรเงินเดือน 5,000

เปิดใจครูอำเภอห่างไกล อยู่กินอย่างไรเงินเดือน 5,000

เปิดใจครูอำเภอห่างไกล : อยู่กินอย่างไรเงินเดือน 5,000 กับเหตุผลที่ทิ้งรร. ไปไม่ลง

ข้าวจานละ 30 บวกน้ำสักสิบบาท สามมื้อก็ 100 ถ้ากินแบบนี้ ‘ทุกวัน’ สามสิบวัน ก็ 3,000 ไหนจะค่าข้าวของเครื่องใช้ สบู่ ยาสีฟัน เสื้อผ้า ค่าน้ำ ค่าไฟ เงิน 5,000 ต่อเดือนจะอยู่ได้อย่างไร?

“อยู่ได้ค่ะ อยู่ที่บ้านตัวเอง พักที่บ้านตัวเอง ไปโรงเรียนก็กินข้าวที่โรงเรียนกินกับเด็ก บางเดือนไม่ค่อยได้ใช้ก็เหลือเงินเก็บด้วยนะ ” ครูบอมเอ่ย

ครูบอมเป็นครูอัตราจ้างโรงเรียนเล็กๆแห่งหนึ่งในอำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี เธอจบปริญญาตรี 5 ปี ครุศาสตร์บัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์

หลังจากเรียนจบ ‘ครูบอม’ ทำงานเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและสอนในโรงเรียนเอกชนอยู่พักใหญ่ๆ ก่อนตัดสินใจกลับไปสอนในโรงเรียนใกล้บ้าน

โดยรับเงินเดือนในปัจจุบันที่ 5,000 บาท ด้วยเหตุผลว่า ‘สบายใจกว่า’ “ถ้าอยู่ที่อื่น 5,000 ไม่พอ แต่อยู่ที่บ้านตัวเอง พักที่บ้านตัวเอง ไปโรงเรียนก็กินข้าวที่โรงเรียนกินกับเด็ก กินใช้ถาดเหมือนกัน ทำแล้วกินด้วยกัน

5,000 นี่เราก็หมดไปกับค่าอาหาร ค่าเครื่องใช้ ค่าน้ำมันรถ เพราะต้องใช้รถมอเตอร์ไซค์ขับไปสอนทุกวัน แต่บางเดือนไม่ค่อยได้ใช้ก็เหลือเงินเก็บนะ” ครูบอมกล่าว

“โรงเรียนอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 10 กิโล ขับรถมอเตอร์ไซค์ไปทุกวัน เลิกงานประมาณ 4 โมงครึ่งก็ขับกลับบ้าน แต่การที่อยู่บ้านเรา เราได้อยู่กับพ่อแม่ ได้เห็นหน้าพ่อแม่เรา”

ปัจจุบัน การศึกษาจากส่วนกลางกำลังเพิ่มหลักสูตรพัฒนาศักยภาพทางเทคโนโลยีให้กับนักศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันในตลาดแรงงานศตวรรษที่ 21

โดยนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาว่า ต้องการให้เด็กสามารถเขียนชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือ โค้ดดิ้งได้

นโยบายการศึกษาของส่วนกลางกลับสวนทางกับความเป็นจริงของโรงเรียนในชนบท ‘ครูบอม’ เล่าว่า

ตั้งแต่เข้ามาสอนในโรงเรียน พบว่าปัญหาหลักเลยคือขาดแคลน อุปกรณ์ทางการศึกษาอย่างหนังสือและบุคลากรทางการสอน

โรงเรียนที่ครูบอมสอนมีนักเรียนราว 50 คน ตั้งแต่อนุบาลไปจนถึง ป.6 แต่มีเจ้าหน้าที่ 4 คน เป็นครูข้าราชการที่มาบรรจุใหม่ 1 คน ผู้อำนวยการ 1 คน ธุรการ 1 คน และครูบอม อีก 1 คน

ครูบอมอธิบายว่า ครูข้าราชการส่วนมากที่มาบรรจุ อาจเพราะโรงเรียนตั้งอยู่พื้นที่ห่างไกล ทำให้อยู่ได้ไม่นานนักก็ย้ายไปสอนใกล้บ้าน

โดยปัจจุบัน ครูบอมรับหน้าที่สอน ป.4-5 และพบว่าเด็กๆหลายคนยังอ่านหนังสือไม่ออก

“สอน ป. 4-5 เน้นมากคือภาษาไทยและคณิตศาสตร์ เพราะเด็กหลายคนยังอ่านไม่ออก เพราะครูขาด ครู ป.1 ไม่สามารถเต็มที่กับเด็กได้เพราะขาดแคลนบุคลากร

ขนาดผู้ปกครองอยู่ใกล้ๆโรงเรียน ยังไม่เข้าใจความรู้สึกครูลำบากแค่ไหน ครูทุกคนต้องดูแลให้ทั่วถึง ดูแลให้ทุกๆคนอ่านออกเขียนได้”

“เปิดเทอมหน้า ผอ. ต้องสอน ป.1 ป.2 และมีครูประจำสอน ป.4-5-6 ส่วนเราต้องไปสอนอนุบาล ตอนนี้ก็ยังรอครูใหม่ แต่เราก็ยังไม่รู้ว่าจะได้ครูใหม่มาไหม ถ้าไม่มีมาจากทางส่วนกลาง ก็ต้องขอเขตว่าเขตจะให้ไหม”

ต่อให้ปณิธานแน่วแน่ในวิชาชีพครูสักแค่ไหน แต่จากปัญหาที่กล่าวมา เป็นที่เข้าใจได้ที่ครูที่บรรจุในโรงเรียนห่างไกลต้องยอมทิ้งความตั้งใจและอุดมการณ์ และกลับเข้าสู่เมืองหลวง หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนอาชีพเพื่อแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าให้กับชีวิต

แต่เมื่อถามครูบอมว่า คิดจะไปแสวงหาโอกาสใหม่ในกรุงเทพไหม เธอกลับตอบว่า “ไม่เคยคิดเลย เพราะรู้ว่าค่าครองชีพสูง และเราต้องเริ่มชีวิตใหม่

ถ้าเราไม่มีเงินเก็บ การที่อยู่บ้านเรา เราอยู่กับพ่อแม่ เห็นหน้าพ่อแม่เรา เราอยู่กับเด็กบ้านนอก มันแตกต่างกัน มันสงสารเด็ก

“ตอนเรียนไม่เคยคิดว่าจะมาเป็นครู แต่พอได้มาสอนเด็กประถม ก็รู้สึกว่าเด็กน่ารักดี ฟังเรา ชอบมาถามนั่นถามนี่เรา พอไม่รู้อะไรก็มาถาม ตอนเช้ามา จอดมอเตอร์ไซค์ วิ่งมากอดเรา เป็นความรู้สึกที่ผูกพันธ์กับเด็กๆที่นี่”

ในขณะกระแสสังคมโจมตี “ครู” มีมาเป็นระลอกๆ ทั้งเรื่องการทำร้ายร่างกายนักเรียน ล่วงละเมิดทางเพศ คุณภาพการสอน

นำไปสู่การตั้งคำถามเชิงโครงสร้างถึงระบบการศึกษาในไทย แต่สิ่งหนึ่งที่มีการพูดถึงกันน้อยคือเรื่องการศึกษาในชนบท

โดยครูบอมปิดท้ายว่า อยากให้ทางส่วนกลางลงมาสำรวจว่าโรงเรียนเหล่านี้ขาดแคลนอะไร และวางนโยบายให้เหมาะสมกับบุคลากรที่มี ด้วยเพราะบางนโยบาย เหมาะสมกับโรงเรียนใหญ่ที่มีทั้งบุคลากรและอุปกรณ์พร้อมสรรพเท่านั้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *