เปิดใจ แหล่งที่มา “ทุนเล่าเรียนหลวง” กับ พีระ ส่องคืนอธรรม

เปิดใจ แหล่งที่มา “ทุนเล่าเรียนหลวง” กับ พีระ ส่องคืนอธรรม

เปิดใจผู้ได้รับทุนเล่าเรียนหลวงและการตั้งคำถามถึงที่มาของทุน คุยกับ พีระ ส่องคืนอธรรมพีระ คว้าทุนเล่าเรียนหลวงตั้งเเต่ปี พ.ศ. 2553 เพื่อศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่สหรัฐอเมริกา

สิบปีต่อมา เขาโพสต์บทความตั้งคำถามถึงแหล่งทุนที่เขาได้รับ ว่ามาจากไหน และพันธะทุนที่เขามี แท้จริงแล้วผูกกับใคร

พีระเกิดและโตที่จังหวัดศรีสะเกษ ก่อนจะย้ายไปเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในระดับชั้นมัธยมปลาย โดยเพื่อนๆในห้องเรียนคณิตศาสตร์(กิ๊ฟท์เลข)

ซึ่งเป็นโครงการที่เขาสอบได้ล้วน “ซุ่ม” เรียนพิเศษเพื่อชิงทุนเล่าเรียนหลวง หรือเรียกสั้นๆว่า ทุนคิง

“ตอนนั้นเราไม่รู้หรอกว่าทุนคิงคืออะไร แต่จำได้ว่าใกล้จะจบม.ห้า ไปฟังรุ่นพี่ที่เคยได้ทุน กลับมาแนะแนว แล้วก็ประทับใจที่เรียนป.ตรีเมืองนอก

คำพูดที่เขาใช้คือ critical thinking หรือการคิดเชิงวิพากษ์ ในห้องเรียนเปิดให้นักศึกษาคุยกัน และไม่ต้องเลือกเอกจนกระทั่งจะจบปี 2 ตอนนั้นเราหูผึ่งเลยนะ”

ทุนคิงเป็นทุนที่มีการแข่งขันสูง โดยแต่ละปีจะให้นักเรียนหัวกะทิเพียง 9 คน ไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในต่างประเทศ แต่ต้องสอบข้อสอบที่เกือบทั้งหมดเป็นอัตนัย

แข่งขันกับนักเรียนจากทั่วประเทศโดยในระยะเวลาสอบสามชั่วโมง พีระเล่าว่าเขาเขียน “จนนิ้วสั่น”

ต่อจากนั้นก็ต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์อีกรอบเมื่อติด 1 ใน 9 นักเรียนที่ได้รับทุนคิงปี 2553 เขาเลือกไปเรียนที่สหรัฐอเมริกา ในมหาวิทยาลัย Swarthmore College เอกมานุษยวิทยา

ผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินอยู่บ่อยครั้ง เรื่องราวของนักเรียนไทยที่ถูกปลูกฝังคุณค่าและแนวคิดแบบหนึ่ง จนกระทั่งมีโอกาสไปอาศัยอยู่ต่างประเทศ ได้พบและสัมผัสวิธีคิดแบบใหม่

จึงย้อนกลับไปตั้งคำถามถึงสิ่งที่ตนได้รับรู้มาตั้งแต่เด็กจนโต ทั้งนี้ ประสบการณ์ “ตาสว่าง” ของพีระ ไม่ได้เกิดขึ้นขณะศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ แต่เกิดขึ้นขณะเรียนอยู่ในโรงเรียนไทยด้วย

เพราะเกิดและโตที่ต่างจังหวัด พีระเริ่มเห็นความแตกต่างเมื่อเข้ามาศึกษาในกรุงเทพ หลังเรียนจบเตรียมอุดมศึกษา เกิดเหตุการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ปี 53

ทำให้มีคนเจ็บมากกว่า 2,100 คน และเสียชีวิตกว่า 91 คน “บรรยากาศที่เตรียมอุดมศึกษาตอนนั้นกับตอนนี้ไม่เหมือนกันนะ เด็กเตรียมอุดมตอนนั้นเกลียดเสื้อแดงมาก

เดินออกไปนอกห้องตอนพักเที่ยง เห็นกระดานห้องข้างๆมีคนเขียนว่า “นปก. นรกป่วนกรุง” เรารู้สึกว่าทำไมถึงเกลียดขนาดนั้นแล้วเราก็เห็นคนที่เตรียมสอบชิงทุนมาด้วยกันสะใจกับการตายของคนเสื้อแดง

หาว่าคนเสื้อแดงเป็นผู้ก่อการร้าย พูดง่ายๆคือไม่เห็นเขาเป็นคน เราสะเทือนใจ ทำไมเป็นแบบนี้” เมื่อมหาวิทยาลัยสอนวิธีการคิดแบบใหม่ๆ วิธีการมองแบบวิพากษ์วิจารณ์ ได้อ่านหนังสือสำคัญๆ

พร้อมกับติดตามความเคลื่อนไหวด้านวัฒนธรรมในไทย พีระเล่าว่า “มันเหมือนเกิดระเบิดทางปัญญา” เขาเริ่มวิพากษ์วิจารณ์การใช้กฎหมายมาตรา112 เพื่อห้ำหั่นศัตรูทางการเมืองอย่างเป็นกิจจะลักษณะในปี 54

ซึ่งทำให้ถูกโจมตีว่าเป็นคน “ทรยศ” ต่อผู้อุปการะ แต่มันกลับทำให้เขาตั้งคำถามถึงแหล่งที่มาของเงินทุนของทุนเล่าเรียนหลวงที่เขาได้รับ

เว็บไซต์สำนักงานผู้ดูแลนักเรียนในสหรัฐอเมริการะบุว่าทุนเล่าเรียนหลวงเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ก่อนจะยกเลิกไปช่วงในปี พ.ศ. 2476

ก่อนในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้จัดให้มีทุนเล่าเรียนหลวงขึ้นมาอีกครั้งในปี 2507เมื่อตรวจสอบในราชกิจจานุเบกษาพบว่ายังมีการประกาศระเบียบทุนต่อเนื่องจนถึงปี พ.ศ. 2482 ก่อนจะเว้นช่วงไป

จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ 9 รื้อฟื้นขึ้นในปี พ.ศ. 2508 ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนพิเศษ 187 ง ทั้งนี้ในราชกิจจานุเบกษาช่วงปี พ.ศ. 2477 – 2482 ไม่มีการใช้คำว่า

“พระราชทาน” ก่อนจะกลับมาใช้อีกครั้ง ในประกาศปี พ.ศ. 2508 และนั่นคือสาเหตุให้พีระส่งเมลไปถามสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกาว่าแหล่งทุนแท้จริงแล้วมาจากไหน

“เราสงสัยเลยส่งเมลไปถามสำนักงานผู้ดูแลนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกา ทุนอื่นๆมันชัดว่ามาจากงบประมาณแผ่นดิน แต่ว่าทุนเล่าเรียนหลวงมันไม่ชัดเจนนัก

เขาก็ตอบกลับมาว่า แหล่งเงินมาจากงบประมาณแผ่นดินมานานแล้ว เป็นสิบปีแล้วหรืออาจ 20 ปี อันนี้พูดตอนปี 54 นะ

“ทุนเล่าเรียนหลวงมาจากภาษีประชาชนมาหลายสิบปีแล้ว แต่ประชาชนไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำ ลองไปถามคนแถวบ้าน รู้จักทุนคิงไหม รู้ไหมว่าทุนคิงมาจากใคร ก็มาจากคนที่ถูกถามนั่นแหละ”

ปัจจุบันพีระเป็นนักแปลและนักเขียนอิสระ เขาเล่าว่า โดนโจมตีว่าเนรคุณตั้งแต่ออกมาพูดช่วงปี 54 ทุกวันนี้ที่ออกมาพูดอีกก็โดนสาปแช่งบ้าง ถูกมองเป็นบุคคลอันตราย แต่คนก็เข้าใจกันมากขึ้น รวมถึงนักเรียนทุนส่วนหนึ่ง

ก่อนจะจบการสนทนา พีระอธิบายถึงความรู้สึกของเขาว่า เรื่องทุนเล่าเรียนหลวงต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ เป็นก้าวแรกของการชำระ อย่างน้อยให้ประชาชนรับรู้ว่า ตัวเองคือแหล่งที่มาของทุนเล่าเรียนหลวง

“ไม่ได้เสนอว่าต้องเปลี่ยนชื่อทุน อย่างสมัยคณะราษฎรยุคแรกก็ยังมีทุนเล่าเรียนหลวงชื่อเดิม เพียงแต่ไม่ได้ใช้คำว่าพระราชทาน

ในเมื่อคำว่า “ทุนคิง” ติดลมบนแล้ว เราก็เรียกง่ายๆว่า ‘ทุนคิงจากภาษีประชาชน’ ให้เครดิตกษัตริย์ก็ได้ แต่จะยืนว่าเงินทองใครส่งเสีย”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *