#TheFeatures
🌍 ย้อนรอย 7 ประวัติศาสตร์การประท้วงเปลี่ยนโลก มีอะไรกันบ้าง เราจะสรุปให้ฟัง
1 🇮🇳คานธี ประท้วงกฏหมายเกลือ จุดเริ่มต้นเอกราชของอินเดียในปี 1930 สมัยที่จักรวรรดิอังกฤษยังปกครองอินเดีย พร้อมอำนาจเบ็ดเสร็จในการสั่งการ อังกฤษได้ออกกฎหมาย ห้ามชาวอินเดียผลิตเกลือ ต้องซื้อเกลือผ่านร้านค้าของชาวอังกฤษเท่านั้น ซ้ำอังกฤษยังเพิ่มภาษีเกลือ ทำให้ราคาเกลือในช่วงเวลานั้นพุ่งสูงขึ้น 4 เท่าตัว เกิดความไม่พอใจไปทั่วทุกหย่อมหญ้า จากชาติที่เคยผลิตเกลือได้มากที่สุดในโลกกลับไม่มีโอกาสได้บริโภคเกลือที่ผลิตได้แม้แต่เกล็ดเดียว ในปีเดียวกันนั้นเอง มหาตมะ คานธี นำขบวนชาวอินเดียนับหมื่นคนเดินเป็นระยะทางกว่า 390 กิโลเมตรไปยังเมืองดันดี พร้อมเกลือหนึ่งกำมือเป็นสัญลักษณ์และจุดประกายให้ชาวอินเดียอีกนับหมื่นนับแสนคนเรียกร้องสิทธิของตนจากรัฐบาลอังกฤษ ถึงแม้คานธีจะถูกจับกุมจากการประท้วงในครั้งนี้ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ชาวอินเดียเริ่มเรียกร้องอิสรภาพด้านอื่น ๆ ในเวลาต่อมา รวมถึงนานาชาติที่วิพากษ์วิจารณ์การปกครองอันกดขี่ของรัฐบาลอังกฤษ จนนำมาสู่การคืนเอกราชให้อินเดียในเดือนสิงหาคม ปี 1947
2 🇺🇸มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ เรียกร้องเพื่อสิทธิ์ที่เท่าเทียมของชาวอเมริกันผิวสี
แม้จะมีการประกาศเลิกทาสมาเป็นเวลากว่า 100 ปี แต่สิทธิของคนผิวสีในอเมริกาก็ไม่เคยเทียบเท่ากับคนผิวขาว จนกระทั่ง มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ นำประชาชนนับแสนคนเดินขบวนต่อการปฏิบัติอันไม่เท่าเทียมกัน โดยการประท้วงครั้งแรกเริ่มต้นจากที่ นางโรซ่า พาร์คส์หญิงผิวสีถูกตำรวจจับบนรถเมล์เพราะไม่ยอมลุกให้ชาวอเมริกันผิวขาวนั่ง การประท้วงยาวนานกว่า 400 วัน จนกระทั่งศาลสูงสุดสหรัฐฯตัดสินว่าการแบ่งแยกที่นั่งตามสีผิวบนรถเมล์ขัดต่อรัฐธรรมนูญ การตัดสินครั้งนี้จุดประกายให้เกิดการเรียกร้องสิทธิอื่น ๆ ของชาวอเมริกันผิวสี ที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกามาจนถึงทุกวันนี้ แม้มาร์ติน ลูเธอร์ คิงส์ จูเนียร์ จะถูกลอบสังหารในปี 1968 ขณะที่กำลังเดินทางไปช่วยพนักงานทำความสะอาดเรียกร้องสิทธิ์ในการได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียม แต่ความฝันของชาวอเมริกันผิวสีที่เขาเป็นคนจุดไว้ก็ไม่เคยดับลงจนถึงทุกวันนี้
3 🇲🇫การปฏิวัติฝรั่งเศส จุดสิ้นสุดของระบอบกษัตริย์ จุดเริ่มต้นประชาธิปไตยในช่วงปี 1789 – 1799 นับเป็นช่วงกลียุคของประเทศฝรั่งเศส ความหิวโหยเกิดขึ้นในทุกเขตแคว้น หนี้สาธารณะจากการเข้าร่วมสงคราม การสูญเสียอเมริกาเหนือดินแดนอันอุดมไปด้วยทรัพยากร การดำเนินนโยบายที่ล่าช้าและระบบการบริหารจัดการอันล้าหลัง แต่ที่จุดชนวนความไม่พอใจของประชาชนอย่างมากที่สุดคือการใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายของราชสำนัก ทำให้ประชาชนที่ไม่มีปัญญาแม้แต่จะซื้อขนมปังซักก้อนเพื่อเลี้ยงครอบครัวลุกขึ้นต่อสู้กับระบอบที่ปกครองพวกเขาอยู่ ปัญญาชนรวมตัวกันก่อตั้งสมาคมที่ช่วยกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อำนาจหลาย ๆ อย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับแวร์ซายน์อีกต่อไป มีการสนับสนุนจากประชาชนรากหญ้ามากขึ้น มีอำนาจในการต่อรองทางการเมือง จนกระทั่งในปี 1792 ระบอบสาธารณรัฐก็ถือกำเนิดในฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ถูกสำเร็จโทษ อภิสิทธิ์ชน ขุนนาง ขั้วอำนาจการเมืองเก่าถูกกำจัดจนหมดสิ้น ถึงแม้ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ฝ่ายที่ฝักใฝ่ระบอบราชาจะมีการตอบโต้จนทำให้มีการนองเลือดอยู่หลายครั้งหลายครา แต่ที่ในที่สุดอำนาจอธิปไตยก็ตกเป็นของประชาชนฝรั่งเศสโดยสมบูรณ์ ฝรั่งเศสกลับมาเป็นมหาอำนาจแห่งยุโรปอีกครั้งแต่ครั้งนี้นำโดยประชาชน
4 🇨🇳เทียนอันเหมิน เมื่อประชาชนไม่ใช่ผู้ชนะ
เรื่องราวที่รัฐบาลจีนปิดบัง และบิดเบือนความจริงกับประชาชนมาจนถึงวันนี้ เหตุการณ์นี้เริ่มต้นเมื่อนาย หูเย่าปัง สมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์เสียชีวิต หูเย่าปังเป็นบุคคลที่รับฟังความเห็นจากประชาชน นักศึกษา และเป็นบุคคลสำคัญที่ประชาชนคาดหวังว่าจะนำจีนสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นระบอบประชาธิปไตยเหมือนประเทศหลังสงครามโลกส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้เขาจึงถูกพรรคคอมมิวนิสต์จีนลดบทบาทและตำแหน่งในพรรคจนไร้อำนาจต่อรอง กระบอกเสียงเดียวของประชาชนก็ไร้ซึ่งแสนยานุภาพในการเรียกร้องใด ๆ จนกระทั่งหูเย่าปังเสียชีวิต ประชาชนนับล้านที่รู้ดีว่าพรรคคอมมิวนิสต์จะไม่มีทางยอมรับประชาธิปไตยก็ออกมาเรียกร้อง มีความพยายามในการเจรจาหลายครั้ง แต่ก็ไม่มีครั้งใดเลยที่ผู้ชุมนุมรู้สึกถึงความจริงใจของพรรคคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งในวันที่ 2 มิถุนายน 1989 กองกำลังทหารก็ยกทัพเข้ายึดจัตุรัสเทียนอันเหมิน มีการยิงใส่ประชาชน โดยเอกสารจากหลายฝ่ายบันทึกยอดผู้เสียไว้ตั้งแต่หลักร้อยจนถึงหลักหมื่นคน หากแต่การประท้วงในครั้งนี้ไม่ได้ทำให้ประเทศจีนเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองแต่อย่างใด แต่การดำเนินนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง รัฐบาลจีนสอดส่องพฤติกรรมประชาชนในทุกช่องทาง ตั้งแต่กล้องวงจรปิดทุกมุมถนน ระบบตรวจสอบบนโลกออนไลน์ การบิดเบือนประวัติศาสตร์และสื่อจากต่างประเทศ คนจีนอายุต่ำกว่า 30 ปีหลายคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเคยเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน
5 🇩🇪การเดินขบวนทุกวันจันทร์ ยุติการแบ่งประเทศเยอรมัน
หลังจากความพ่ายแพ้ของนาซีเยอรมัน ประเทศเยอรมันถูกแบ่งการปกครองออกเป็นสองส่วน ฝั่งตะวันตกเป็นของสหรัฐอเมริกา ฝั่งตะวันออกเป็นของสหภาพโซเวียต หากแต่คุณภาพชีวิตและเสรีภาพของประชาชนทั้งสองฝั่งต่างกันราวฟ้ากับเหว ประชาชนฝั่งตะวันออกต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ กิจกรรมทางสังคม การศึกษา และอีกหลายอย่างเป็นเรื่องต้องห้าม การเดินขบวนวันจันทร์เริ่มขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กันยายน 1989 ที่เมืองไลป์ซิก หลังจากนั้นก็ลุกลามไปยังเมืองน้อยใหญ่ในเยอรมันตะวันออก การประท้วงนี้เป็นตัวอย่างการประท้วงอย่างสันติที่ประสบผลสำเร็จให้กับการประท้วงอื่น ๆ ทั่วโลก เมื่อกองกำลังทหารและตำรวจอาวุธครบมือมีคำสั่งให้ใช้กำลังสลายการชุมนุมได้อย่างเต็มที่ หากแต่ฝ่ายผู้ชุมนุมมีเพียงเทียนคนละหนึ่งเล่มไม่ได้มีท่าทีที่จะใช้กำลัง ฝ่ายกองกำลังจึงไม่ได้ใช้กำลังสลายการชุมชนแต่อย่างใด เหล่าผู้มีอำนาจปกครองในเยอรมันตะวันออกหลายคนที่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงก็ร่วมกันกดดันให้ผู้นำต้องลาออก และปูทางไปสู่การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินในปีเดียวกันจนเกิดการรวมประเทศเยอรมันอีกครั้งในปี 1990 สิ้นสุดการปกครองที่แบ่งประเทศออกเป็นสองฝ่าย
6 🇵🇭ชาวฟิลิปปินส์ลุกฮือ ขับไล่ประธานาธิบดีครองอำนาจ 21 ปี
นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอสอดีตประธานาธิบดีของฟิลิปปินส์ แก้รัฐธรรมนูญและเอื้อประโยชน์ทางการเมืองให้พรรคของตน ทำให้ตัวเขาเองดำรงตำแหน่งยาวนานกว่า 20 ปี จนกระทั่งในปี 1983 นายเบนิโญ อากิโน จูเนียร์ ผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่เป็นความหวังเดียวของประชาชนถูกลอบสังหาร ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านเกิดขึ้นทั่วประเทศ จนนายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส ต้องยอมจัดการเลือกตั้ง นางโคราซอน อากิโน ภรรยาของนาย เบนิโญผู้ล่วงลับขึ้นมาเป็นผู้นำฝ่ายค้าน ทว่าการรัฐบาลของนายมาร์กอสทำการโกงเลือกตั้ง โกงคะแนนเสียงให้นายมาร์กอสอย่างชัดเจน ประชาชนออกมาเรียกร้องความถูกต้องอีกครั้ง ด้วยการเดินขบวน จนกระทั่งกองทัพประกาศตนว่าจะเข้าร่วมกับประชาชนทำให้นายมาร์กอสต้องหนีขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปยังฮาวายพร้อมกับครอบครัว ตลอดอำนาจของนายมาร์กอส มีการคอร์รัปชั่นโกงกินอย่างโจ่งแจ้ง หลักฐานการคอร์รัปปชั่นอันฉาวโฉ่ คือคอลเลคชั่นรองเท้าแบรนด์เนมนับพันคู่ของนาง อิลเมดา มาร์กอส ภรรยาอดีตประธานาธิบดี ซึ่งในปี 2018 นางอิลเมดา มาร์กอส ถูกนำตัวกลับมาดำเนินคดีและถูกตัดสินให้มีโทษจำคุก ปัจจุบันเธอออกจากเรือนจำใช้ชีวิตปกติเเล้ว
7 🇹🇭แรงงานไทยเดินขบวนจนได้สิทธิ์ลาคลอด 90 วัน
ก่อนปี 2536 สตรีไทยต้องแบกสังขารไปทำงานหลังคลอดทั้ง ๆ ที่ร่างกายยังไม่ฟื้นตัวดี เพราะกฏหมายระบุไว้ว่ามีสิทธิ์ลาคลอดเพียง 60 วันเท่านั้น ทำให้หลายคนต้องยอมลาออกจากงานและเสียโอกาสในอาชีพ จนกระทั่งในปี 2534 คนงานย่านอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ พระประแดง และรังสิตที่ทนต่อไปไม่ไหว ขึ้นมาเดินขบวนเรียกร้องให้มีกฎหมายลาคลอดได้ 90 วัน รัฐบาลในสมัยนั้นก็รับข้อเสนอ ผู้ชุมนุมก็ยอมสลายตัว แต่เรื่องกลับเงียบไปกว่า 2 ปี ต่อมาในปี 2536 ก็มีการออกมาเรียกร้องอีกครั้ง โดยครั้งนี้มีสตรีที่กำลังตั้งครรภ์ยอมกรีดเลือด และอดอาหาร คณะรัฐมนตรีจึงเห็นชอบให้การลาคลอดยืดเป็น 90 วัน