ปัญหาการเรียนประวัติศาสตร์ไทย : ครูควรทำอย่างไร เมื่อคนรุ่นใหม่ตื่นตัว

ปัญหาการเรียนประวัติศาสตร์ไทย : ครูควรทำอย่างไร เมื่อคนรุ่นใหม่ตื่นตัว

เสวนา

ว่ากันว่า ความจริงอยู่ที่ใครเป็นคนเขียน… ความจริงเชิงประวัติศาสต์ก็เช่นกัน

แต่การสอนประวัติศาสตร์ในห้องเรียนไทยมักมาในรูปแบบการ “เล่า” และ “จำไปสอบ” มากกว่าการฝึกให้นักเรียนตั้งคำถามเชิงวิพากษ์

ทำให้ความจริงเชิงประวัติศาสตร์ในห้องเรียนไทย เป็นความจริงสมบูรณ์ เพราะการเรียนการสอนในลักษณะนี้

ทำให้เด็กไทยขาด “สายตาที่จะตั้งคำถาม” ที่ส่งผลไม่ใช่แค่เฉพาะในการเรียนประวัติศาสตร์ หรือวิชาอื่นๆในห้องเรียน

แต่รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวันแล้วจะทำอย่างไรให้นักเรียนประวัติศาสตร์เริ่ม “ลืมตา” มองประวัติศาสตร์ในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ และพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง

เสวนา

ในงาน “สอนประวัติศาสตร์อย่างไร เมื่อคนรุ่นใหม่ตื่นตัว” จัดขึ้นที่ลิโด้ 2 สยามสแคว์ โดยชมรมนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง มีการถกเถียงอย่างเข้มข้น ถึงปัญหาการศึกษาประวัติศาสตร์ไทย และจะพัฒนาอย่างไรในอนาคต

ปิยาพัชร สินทรัพย์ นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง และมีประสบการณ์จากการศึกษาในไทยและสหรัฐฯ ชี้ว่า ในเมืองไทยสอนประวัติศาสตร์แบบท่องจำเป็นหลัก ส่วนข้อสอบมักอยู่ในรูปแบบปรนัย

ซึ่งแตกต่างจากสหรัฐฯ ที่เน้นการเรียนเชิงวิพากษ์ และบรรยากาศการเรียนเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงประวัติศาสตร์มากกว่า

“ตอนที่เรียนในไทย เราไม่ได้ตั้งคำถามอะไรมากมาย พอได้เรียนแบบนั้นเราเลยได้กลับมาตั้งคำถามประวัติศาสตร์ไทย เช่น

ทำไมประวัติศาสตร์ไทยถึงถูกเขียนให้เป็นประวัติศาสตร์เส้นตรง เป็นชุดเดียวกัน หรือทำไมเราไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ในไทยเราเรียนประวัติศาสตร์กรุงเทพ เป็นหลัก”

“ส่วนในอเมริกา อาจารย์จะให้นักเรียนเลือกหัวข้อที่คิดว่าเราสนใจมากที่สุด เช่น ตอนนั้นเราสนใจเรื่องอินเดียแดงมาก เราเลยไปหาข้อมูลในห้องสมุด

เราจึงดูตามหลักฐานขั้นต้น วิเคราะห์และเขียนรายงานเสนออาจารย์ นี่เป็นวิธีการเรียนการสอนที่อเมริกา เราสามารถถกเถียงกันได้โดยพื้นฐานของหลักฐาน”

“สิ่งหนึ่งที่อยากเน้นคือ ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ fact แต่ในไทยเราไม่กล้าที่จะตั้งคำถาม ถ้าเป็นชนชั้นนำ เด็กไทยไม่กล้าตั้งคำถาม”

รศ.ปรถภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ ชี้ว่าการศึกษาไทย “ล้าหลังประมาณ 20-30 ปี” เพราะการศึกษาไทยเน้นไปที่การทดสอบความจำมากกว่าความเข้าใจ

โดยเสนอว่าการศึกษาไทยควรเน้นไปที่การให้นักเรียนรู้ว่าสิ่งที่เขาเรียนมีความหมายต่อชีวิตเขาอย่างไร

“ระบบการศึกษา การสร้างคนในไทย โดยภาพรวมแล้ว จากประสบการณ์ที่ทำโรงเรียนกว่า 20 ปี การศึกษาเราล้าหลังไปสักประมาณ 20-30 ปี เราเรียนชุดความรู้ชุดเดิมๆ วิธีการเรียน เราไปเน้นการสอบความจำ มากกว่าความเข้าใจที่แท้จริง”

เราเห็นประเทศอื่นเขาไปกันเร็วมาก เขาไปไหนกัน เขาไปที่ว่า สิ่งที่เรียนมันต้องเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้เรียน มันมีความหมายต่อชีวิตของเขาอย่างไร เขาจะเอาไปทำอะไร

ผศ.ดร. ณัฐพล ใจจริง นักประวัติศาสตร์การเมือง เสนอมุมมองประวัติศาสตร์ไทยด้วยหัวข้อ “ประวัติศาสตร์ไทยในทุ่งลาเวนเดอร์” โดยมองว่า

ประวัติศาสตร์ไทยเน้นหนักไปที่ชนชั้นนำ วัฒนธรรมประจำชาติ และการปกครองที่สวยงามในอดีตมากเกินไป

“ไม่มีประชาชนในประวัติศาสตร์ไทย ในอดีตเราไม่พูดถึงประชาชน เวลาเราเรียนประวัติสาสตร์ไทยเป็นเรื่องของมหาบุรุษ เราเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทย

แต่หน้าปกหนังสือมีแต่มหาบุรุษ มันทำให้เด็กตั้งคำถามว่าชาติคืออะไร แต่ในสหรัฐ อังกฤษ ญี่ปุ่น เขาเรียนเรื่องประชาชนของเขา”

“เด็กๆรุ่นใหม่พูดถึงชาติแบบใหม่ ชาติที่มีความหลากหลาย เขามองความหมายของชาติต่างไป คนรุ่นเก่ามองต่างจากเขา เด็กรุ่นใหม่มองว่าชาติคือประชาชน”

ดร. รัตนา แสงบัวเผื่อน ผอ. สำนักวิชาการและมาตรฐาน ซึ่งเป็นตัวแทนจากกระทรวงศึกษาธิการ อธิบายหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำลังพยายามปรับปรุงหลักสูตรในการศึกษาประวัติศาสตร์

แต่ปัญหาที่มี คือ การขาดงบประมาณและบุคคลากร นอกจากนี้ ผู้ร่วมสัมนาต่างให้ความเห็นที่น่าสนใจในการพัฒนาการเรียนประวัติศาสตร์ในไทย

เสวนา

โดยรศ.ปรถภาภัทรเสนอว่า การเรียนประวัติศาสตร์ ต้องทำให้คนเรียนเห็นว่าเขาเรียนไปทำไม และการเรียนการสอนจึงต้องทำให้มันสัมพันธ์กันทุกเรื่อง

โดยเฉพาะกับสภาพแวดล้อมของผู้เรียน การปรับวิธีเรียนหรือมองมุมใหม่ที่ไม่มุ่งเรียนวิชาเพื่อเอาวิชา แต่มุ่งเรียนวิชาเพื่อชีวิต

ส่วนปิยาพัชร มองว่าการเรียนประวัติศาสตร์คือการตอบคำถามว่าเราคือใคร และโจทย์ที่สำคัญในการพัฒนาการเรียนประวัติศาสตร์ คือ การสอนประวัติศาสตร์อย่างไรให้หวงแหนชาติ แต่ในขณะเดียวกันไม่กลายเป็นคนคลั่งชาติ

ดร. รัตนา แจกแจงถึงการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนประวัติศาสตร์ โดยเน้นไปที่การเรียนแล้วนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยเน้นว่าครูควรจะเข้าใจมิติที่ส่งเสริมการเรียนรู้แบบค้นคว้ามากขึ้น เพิ่มเติมมิติสังคมและความเป็นมนุษย์

ผศ.ดร. ณัฐพล ชี้ว่าเยาวชนยุคนี้ยิ่งบังคับเท่าไร ยิ่งต่อต้านเท่านั้น โดยมองว่าในสภาพการเมืองปัจจุบัน อาจเป็นการยากที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการสอนทันที เพราะระบบการเมืองที่กดนักเรียนไว้ ทำให้นักเรียนจำต้องท่องไปสอบ

แต่หากในอนาคตมีการเปลี่ยนแปลงควรจะมีการสนับสนุนให้นักเรียนอ่านมากขึ้น ก่อนจะทิ้งท้ายด้วยวาทะของ จอร์จ ออร์เวลล์ว่า “คนควบคุมอดีต ควบคุมอนาคต คนควบคุมปัจจุบัน ควบคุมอดีต”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *