“ซาบะ” มานิตย์ อินทร์พิมพ์ : “ในสภาพสังคมไทยปัจจุบัน คนพิการเหมือนอยู่ในคุก”

“ซาบะ” มานิตย์ อินทร์พิมพ์ : “ในสภาพสังคมไทยปัจจุบัน คนพิการเหมือนอยู่ในคุก”

“ซาบะ” มานิตย์ อินทร์พิมพ์ : “ในสภาพสังคมไทยปัจจุบัน คนพิการเหมือนอยู่ในคุก”

เนื่องในวาระวันคนพิการแห่งชาติ The Features จับเข่าคุยกับ “ซาบะ” มานิตย์ อินทร์พิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Accessibility is Freedom องค์กรที่ฝันให้ทุกๆคนในสังคมอยู่กันได้อย่างเท่าเทียม

“ลองหลับตาแล้วคิดว่าถ้าคุณนั่งวีลแชร์ คุณจะไปไหนได้บ้าง คุณจะไปโรงเรียนยังไง เดินทางบนทางเท้า ออกไปปากซอยยังไง ขึ้นรถเมล์ได้ไหม

สะพานลอยใช้ไม่ได้แล้วเวลาจะข้ามถนนต้องทำไง สมมุติไปถึงโรงเรียนแล้ว โรงเรียนเป็นอาคารสอง-สามชั้น แล้วมีนักเรียนที่นั่งรถเข็นทำไง แล้วจะใช้ห้องน้ำยังไง”

“ซาบะ” มานิตย์ อินทร์พิมพ์ ผู้ก่อตั้ง Accessibility is Freedom บรรยายประสบการณ์ที่คนพิการต้องเผชิญภายใต้สาธารณูปโภคของเมืองไทยที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ

และเพราะซาบะประสบกับปัญหาเหล่านี้ด้วยตัวเอง เขาลุกขึ้นมาขับเคลื่อนและรณรงค์สิทธิของคนพิการ โดยชื่อองค์กรอธิบายทั้งความตั้งใจของเขาและสิ่งที่คนพิการในเมืองไทยต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี

เขาอธิบายว่าในสภาพสังคมไทยปัจจุบัน คนพิการเหมือนอยู่ในคุก ดังนั้นการเข้าถึง (Accessibility) จึงเปรียบเสมือนการปลดปล่อยคนพิการให้ได้รับอิสระภาพ (Freedom) เป็นที่มาของ Accessibility is Freedom

“จุดประสงค์ขององค์กรคือเพื่อแก้ปัญหาสิ่งที่เราพบ เริ่มตั้งแต่การละเมิดสิทธิคนพิการ เรื่องที่จอดรถคนพิการ ก็รณรงค์มาเรื่อยๆ ทั้งสำนึกสาธารณะ ทั้งที่สาธารณะ อาคารสาธารณะ ต้องมีที่คนพิการด้วย ต่อมาก็ขยายงานไปเรื่อยๆ เรื่องระบบขนส่งสาธารณะ พื้นที่เมือง”

หนึ่งในการรณรงค์ที่องค์กรกำลังดำเนินการคือ “การยกสะพานลอยออก” โดยในบริบททั่วไปแล้ว อาจเข้าใจว่าสะพานลอยเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้คนเดินถนนได้ข้ามถนนได้อย่างปลอดภัย

แต่หากมองในมุมกลับ สะพานลอยกลับไม่เป็นมิตรกับคนเดินเท้าเสียเท่าไร บ้างก็บันไดสูงชันเกินไป บ้างก็ก่อให้เกิดมุมอับที่เป็นอันตราย

ไม่เพียงเท่านั้น ตัวสะพานลอยยังสร้างขึ้นให้เฉพาะคนที่ “ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง” ใช้ได้เท่านั้น และปล่อยให้คนที่ร่างกายไม่แข็งแรงต้องเสี่ยงอันตรายบนท้องถนน

โดยล่าสุดวันที่ 4 พฤศจิกายน มีหญิงวัย 63 ปี ถูกรถชนเสียชีวิตเพราะขึ้นสะพานลอยไม่ไหว

“สะพานลอยสร้างให้คนข้ามถนน แต่เฉพาะคนที่แข็งแรง คนอื่นๆใช้ไม่ได้ คนอ้วนน้ำหนักมาก ขึ้นสะพานลอยไม่ไหว คนปวดขาจะขึ้นยังไง

บางคนผ่าตัดหัวใจมา มันใช้ไม่ได้ บางที่ตัวสะพานลอย ทางขึ้นทางลงมันมาอยู่บนทางเท้า ทางเท้ามันก็แคบอยู่แล้ว ทางขึ้นสะพานลอยกินพื้นที่ทางเท้ากว่า 80-90% แล้วผมก็ไปไม่ได้”

ในขณะที่การรณรงค์เพื่อพัฒนาระบบสาธารณูปโภคทางกายภาพสำหรับคนพิการยังดำเนินต่อไป แต่สำหรับซาบะแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เขาให้ความสำคัญไม่แพ้กัน

คือสำนึกของคนในสังคม เพราะปัญหาทางกายภาพในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจาก “ความเข้าใจของคนในสังคม”

“นาฬิกามันเดินไปทุกๆวัน คนที่มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง คุณใช้ชีวิตได้ปกติ คุณไปโรงเรียนได้ ไปโรงพยาบาลได้ ไปช็อปปิ้งก็ได้ แล้วคนที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ไปไม่ได้

แต่นาฬิกายังคงเดินต่อไป “สำนึกของคนจึงเป็นสิ่งที่ผมผลักดันมาก เรื่องจิตใจ เรื่องความคิดเรื่องเจคตคิ สำนึกของคน ความเข้าใจของคน

สำคัญสุดของทุกๆเรื่อง ทางเท้าที่ทำขึ้นมาแล้วคนด่ากันโครมๆทั่วบ้านทั่วเมือง มันเกิดจากคนสร้างไม่มีจิตสำนึกที่ดีพอ ไม่ได้มองทุกคนที่อยู่ในสังคม”

เป็นเวลากว่า 6 ปีแล้วที่ Accessibility Is Freedom เข้าถึงและเท่าเทียม ขับเคลื่อนเรียกร้องสิทธิของคนพิการในประเทศไทย แม้ทั้งหมดจะยังไม่สมบูรณ์แบบ

แต่ซาบะเล่าว่าเขาเห็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี คนพิการเริ่มใช้บริการรถสาธารณะอย่างรถเมล์ได้ บีทีเอสติดลิฟท์สำหรับคนพิการ คนในสังคมเริ่มมีความเข้าใจมากขึ้น

ทั้งนี้ ซาบะย้ำว่าสิ่งที่เขาทำไม่ใช่เพียงเพื่อคนพิการเท่านั้น แต่สำหรับทุกๆคนในสังคม “วันนี้คุณปกติ พรุ่งนี้ไม่แน่ ทุกคนเจ็บป่วยได้ คุณปั่นจักรยานล้ม ขาหักเป็นคนพิการ ต่อให้ไม่ขาหัก

แต่อายุ 70 อายุ 80 ร่างกายก็ทรุดโทรม เพราะฉะนั้นการสร้างเมืองให้ทุกคนใช้ได้ร่วมกัน วันดีคืนดีเจ็บป่วยมา คุณยังสามารถใช้เมืองได้อย่างเท่าเทียม

“นิยามเมืองในฝันของผม คือเมืองที่สวยงาม ผู้คนดูแลกัน ผู้คนมีความรับผิดชอบต่อสิ่งรอบๆตัว มีความคิดที่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าคนในสังคมมีความแตกต่างหลากหลาย ผู้คนเคารพกัน และคนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *