“ความเสี่ยงกับการเล่าเรื่องผ่านหนังการเมือง”

“ความเสี่ยงกับการเล่าเรื่องผ่านหนังการเมือง”

บทสัมภาษณ์นักศึกษาปี 4 เอกภาพยนตร์และภาพถ่าย ที่กำลังทำหนังสั้นเพื่อสื่อสาร และตั้งคำถามถึงการแก้ไขปัญหาทางสังคมผ่านหนังการเมือง

ทำไมถึงเลือกทำหนังการเมือง?

  เพราะว่าเรารู้สึกมาตั้งแต่ช่วงมัธยมปลายที่เริ่มต้นการรัฐประหารพอดี ในตอนนั้นเรารู้สึกไม่ชอบที่ใช้กำลังทหารในการควบคุมเสรีภาพเรา และเรารู้สึกอย่างนั้นมาตลอด เราเคยคิดเนื้อเรื่องที่ตัวเอกอยากหนีออกจากสังคมเผด็จการ และตั้งเเต่เราคิดได้จนผ่านมา 4 ปี เนื้อเรื่องนี้ไม่เคยหายไปจากหัวเราเลย เพราะเราคงรู้สึกกับมันมากจนถึงช่วงธีสิส เราเลยหยิบมันมาดัดแปลงจนสามารถนำมาถ่ายทำได้ 

สิ่งที่มากระตุ้นในการทำหนังการเมืองที่สุด?

คงเป็นสังคมโซเชี่ยล เราได้เห็นบางกลุ่มที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร บางคนที่แสดงความเห็นว่าสมควรแล้วที่ใช้กำลัง ใช้ความรุ่นแรงมาจัดการกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้ เราก็เลยรู้สึกว่า นี่มันใช่สิ่งที่คนเราทำด้วยกันเหรอ คือเข้าใจว่าธรรมชาติของคนเรามันต้องมีความเห็นต่าง แต่อีกฝ่ายเขาเหมือนไม่แคร์ว่าอีกคนจะถูกทำร้ายไปยังไง เขาแค่ไม่อยากฟังเสียงของคนเห็นต่าง เราเลยรู้สึกคับแค้นใจ เราเลยอยากสื่อออกมาในฐานะนักเล่าเรื่องผ่านหนัง และเรื่องภาพลักษณ์ทางการเมือง ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตที่สามารถยืนยันได้ว่าการบริหารและการปฎิบัติต่อประชาชน มันสื่อให้เห็นว่าเขาไม่ได้สนใจคุณภาพชีวิตของประชาชนสักเท่าไหร่ และยังฉกโฉยเงินในรูปแบบภาษี หรือรูปแบบต่างๆที่ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้ 

วิธีการสื่อสารผ่านหนัง

ข้อมูลในอินเตอร์เน็ตที่ว่าเขาโกงหรือคอร์รัปชั่นเนี่ย เราสามารถถ่ายทอดเป็นรูปธรรมและทำให้รู้สึกได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือปัญหาจริง ๆ ไม่ใช่การบุคลิกภายนอก เช่นนิสัย การพูด แต่เราต้องหาสิ่งที่สามารถพูดได้ว่าระบบเขามีปัญหาจริง ๆ มากกว่า เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในหนังธีสิสของเราสามารถสื่อสารออกมาได้ 

เรื่องย่อเกี่ยวกับหนังเรื่องนี้ 

หนังธีสิสของเราเกี่ยวกับนักเรียนกลุ่มหนึ่งที่พยายามเปิดโปงปัญหาในโรงเรียน โดยการก่อม็อบนกกระดาษขึ้นมา แต่ทางโรงเรียนกลับใช้อำนาจมืดสั่งให้พวกเขาเงียบ

คิดว่าเรื่องนี้จะให้อะไรกับคนดู

เรามองว่าเป็นการตั้งคำถามมากกว่า เราอยากสื่อสารไปกับคนทั่วไปว่าวิธีไหนคือการแก้ปัญหาได้จริง  ๆ ระหว่างวิธีที่สร้างสรรค์กับวิธีที่ก่อจลาจล (กึ่งความรุนแรง) ซึ่งทั้งสองวิธีมีราคาที่ต้องจ่าย วิธีที่สร้างสรรค์อาจจะไม่ได้สร้างความวุ่นวาย แต่ถ้าเขาไม่ได้เดือดร้อน เขาก็ไม่อยากแก้ปัญหาเพราะเขาก็ได้ประโยชน์อยู่ดี ในขณะที่การก่อจลาจลจะทำให้เกิดความสูญเสีย แต่มันจะทำให้คนกลุ่มใหญ่รู้สึกว่ามันมีเรื่องแย่ ๆ เกิดขึ้นและบางอย่างอาจจะได้รับการแก้ไข ท้ายที่สุด มันคือทางเลือกที่เราจะ

ใช้วิธีแก้ปัญหาในสังคมที่เราเป็นอยู่ และอยากสื่อว่าอย่าหมดความหวังที่เราจะแก้ปัญหา ต้องยอมรับว่าบางทีมันอาจมีอุปสรรค ถึงแม้เราเองอาจไม่ได้อยู่ถึงวันที่ปัญหามันได้รับการแก้ไข 

ความสุ่มเสี่ยงของหนังเรื่องนี้

ในด้านที่จะไม่สามารถฉายในโรงภาพยนตร์ได้ เพราะเราไม่คิดว่าสถานการณ์จริงจะใกล้เคียงกับหนังเราขนาดนี้ เราไม่มั่นใจว่าจะถูกเพ่งเล็งหรือเปล่า หรือถ้าเราไม่ได้ฉายในโรงภาพยนตร์จริงๆเราคิดว่าจะส่งหนังประกวดหรือลงออนไลน์เลย แต่เราก็อยากให้หนังเราถูกฉายเหมือนกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *