ปัญหาการศึกษาไทย พรากความมั่นใจเพราะกลัวผิด – ตอบผิด คิดผิด แม้กระทั่งใช้สีปากกาผิด

ปัญหาการศึกษาไทย พรากความมั่นใจเพราะกลัวผิด – ตอบผิด คิดผิด แม้กระทั่งใช้สีปากกาผิด

คุณภาพการศึกษาไทยดูจะถอยหลังลงเรื่อยๆ มีรายงานว่า ปัจจุบันการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยจัดอยู่ในอันดับ 6 ของประเทศในกลุ่มอาเซียน ขณะที่ระดับอุดมศึกษาอยู่อันดับ 8 ด้วยเหตุนี้จึงมีการเรียกร้องการปฏิรูปการศึกษาไทยมาโดยตลอด 

โดยหนึ่งในปัญหาหลักของการศึกษาไทยคงหนีไม่พ้นเรื่องความเหลื่อมล้ำของโอกาสการศึกษา สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ 1/2563 มีสัดส่วนคนยากจนในไทยเพิ่มเป็นกว่า 6.7 ล้านคน ทำให้เยาวชนต้องหลุดออกนอกระบบการศึกษา และได้ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 4.2 เท่านั้น

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคก้าวไกล ให้ความเห็นว่า อีกหนึ่งในปัญหาการศึกษาคือระบบการเรียนการสอนในห้องเรียน วิโรจน์ชี้ว่ารูปแบบการเรียนการสอนในห้องเรียนเมืองไทยยังขาดการเปิดพื้นที่ให้นักเรียนได้ใช้ความคิดอย่างสร้างสรรค์ นอกจากนั้นการ “ปักธงวิธีคิด” ของผู้สอนยังทำให้เด็กขาดความมั่นใจ

“ความคิดสร้างสรรค์ที่เรามักจะพูดว่าเด็กต้องมีคือคุณเปิดโอกาสให้เด็กคิด แต่ครูมักจะชมว่าเด็กคนนี้มีความคิดสร้างสรรก็ต่อเมื่อมันไปตรงกับธงที่คุณปักไว้ มันตรงกับผู้ใหญ่หรือครูคิดเอาไว้ แต่ถ้าเกิดเด็กคนนั้นคิดแปลกๆ ไม่ตรงกับธงในใจผู้ใหญ่ คุณจะบอกว่าเขาคิดพิเรณ สังคมไทยไม่ให้คุณค่ากับการทำผิด ” วิโรจน์กล่าว 

“อย่างสิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ตอบแบบใช้คำตอบเปิด เป็น open approach คำตอบมีหลายแบบ คือเขาไม่จำกัดวิธีคิด แต่ของเรายังจำกัด จำกัดว่าเราต้องเขียนเหมือนครู กั้นซ้ายกันขวา เขียนเท่ากับไม่ตรงกันยังถูกหักคะแนน วิธีเขียนไม่ตรงกับที่ครูสอนไม่ได้คะแนน มันไม่มีการเปิดให้คุณคิดอย่างสร้างสรรเพื่อหาคำตอบ” 

จากข้อมูลของกรมแรงงาน นักศึกษาที่จบการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาในปี พ.ศ. 2561 และเข้าสู่ตลาดแรงงานในปี พ.ศ. 2563 เป็นจำนวน 323,118 คน และกว่า 343,993 คนจะเข้าสู่ตลาดแรงงานในปี 2564 

อย่างไรก็ดี วิโรจน์อธิบายว่า กลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่เข้าสู่ตลาดแรงงานไทยถูก “คัดเลือกเพื่อป้อนเข้ามาสู่การเป็นแรงงานของชนชั้นนำ” เพราะบุคลากรทางการศึกษามองข้ามความแตกต่างทางอัตลักษณ์ของนักเรียนและนักศึกษา

“โรงเรียนเต็มไปด้วยคำสั่ง เต็มไปด้วยคำตอบที่ล็อกสเป็ค ทุกสิ่งทุกอย่าง มันเหมือนกับครูส่วนใหญ่มีแม่พิมพ์ในใจว่าอยากให้เด็กเปนช้างไม้แกะสลัก แต่เขาลืมไปว่าเด็กทุกคนเป็นวัตถุที่ไม่เหมือนกัน บางคนเป็นโลหะ บางคนเป็นพลอย”

“คุณล็อกสเป็คว่าคุณต้องเป็นช้างไม้แกะสลัก แล้วคุณจะทำให้คนที่เป็นโลหะ แล้วคุณจะทำให้คนที่เป็นพลาสติก เป็นแก้ว เป็นช้างไม้แกะสลักได้อย่างไร สุดท้ายการศึกษามันเลยเป็นระบบในการคัดเลือกคนที่ใช่ เพื่อป้อนเข้ามาสู่การเป็นแรงงานของชนชั้นนำเท่านั้น”

อ้างอิง: 

https://aec.kapook.com/view53593.html
https://www.doe.go.th/prd/assets/upload/files/lmia_th/9b858e87e0724b60acde9050e35e9e67.pdf

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *